เครื่องมือและอุปกรณ์การตัดเย็บเสื้อผ้า





สาระสำคัญ


            การใช้งาน การดูแลรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์การตัดเย็บที่ถูกต้องอยู่ในสภาพดี เป็นสิ่งที่ช่วยให้งานตัดเย็บมีความละเอียดเรียบร้อย รวดเร็วและได้ผลงานดีมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะจักรเย็บผ้า เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ผู้เป็นช่างจะต้องให้ความสำคัญ ต้องศึกษาการใช้งานให้ถูกต้อง  การดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ฝึกปฏิบัติให้มีทักษะความชำนาญ  เพราะงานตัดเย็บต้องใช้ฝีมือมีความละเอียดเรียบร้อย มีความประณีตและมีความเที่ยงตรงเป็นหลักสำคัญ การดูแลรักษาและเก็บรักษาเครื่องมือเป็นคุณลักษณะที่ดีของช่าง  





 


 
จุดประสงค์การเรียนรู้


1. บอกชื่อ หน้าที่ การใช้และการดูแล รักษาวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายได้ถูกต้อง
            2. บอกส่วนประกอบของจักรอุตสาหกรรมฝีเข็มเดี่ยวได้ถูกต้อง
            3. บอกชื่อ หน้าที่และประโยชน์การใช้งานของส่วนประกอบต่างๆ ของจักรอุตสาหกรรม ฝีเข็มเดี่ยวได้ถูกต้อง
            4. ปฏิบัติการใช้และบำรุงรักษาจักรอุตสาหกรรมฝีเข็มเดี่ยวได้ถูกต้อง
            5. มีเจตคติที่ดีต่ออาชีพและปฏิบัติงานโดยยึดหลักความปลอดภัยในการทำงาน



เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างแบบและตัดเย็บเสื้อผ้า

           วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือการตัดเย็บ เป็นสิ่งที่ช่วยให้งานตัดเย็บมีความละเอียดเรียบร้อย รวดเร็วและได้ผลงานดีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้งานของช่างจะต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มีการทำความสะอาด และควรเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ เพราะงาน    ตัดเย็บต้องใช้ฝีมือมีความละเอียดเรียบร้อย มีความประณีตและมีความเที่ยงตรงเป็นหลักสำคัญ   ซึ่งการใช้และการดูแลรักษาเครื่องมือเป็นคุณลักษณะที่ดีของช่างเสื้อ  ดังนั้นจึงควรรู้จักวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามชนิดของงานและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน แบ่งได้เป็นหลายประเภท ได้แก่

 
        1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัด
   



1.1   สายวัดตัว      
        การใช้งาน ใช้ในการวัดสัดส่วนขนาดรูปร่าง เพื่อใช้ในการสร้างแบบตัด
        ลักษณะ สายวัดตัวโดยมาตรฐาน มีขนาดความยาว 150 .ม หรือ 60 นิ้ว เป็นเส้นแบนๆ ทำด้วยไฟเบอร์กลาสเทป และทำด้วยผ้าเทป บนสายวัดตัวจะมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งมีหน่วยเป็นหลักนิ้ว อีกด้านหนึ่งเป็นหลักเซนติเมตรหรือบางครั้งอาจจะมีทั้งหลักนิ้วและหลักเซนติเมตรอยู่ด้านเดียวกันแต่อยู่คนละข้าง ด้านปลายของสายวัดตัวจะห่อหุ้มด้วยโลหะทั้ง 2 ด้าน จะมีรูตาไก่กลม ๆ เจาะไว้ใช้สำหรับแขวน
การเก็บดูแลรักษา ไม่ใช้สายวัดแทนสายคาดเอว เพราะจะทำให้สายวัดบิดเบี้ยวเสียรูปและควรเก็บรักษาโดยวิธีการแขวน เพราะจะทำให้สายวัดอยู่สภาพเดิมไม่เสียรูป  สะดวกต่อการใช้งาน


1.2 ไม้บรรทัด
      การใช้งาน ใช้สำหรับขีดเส้นในการสร้างแบบ                 
      ลักษณะ  ไม้บรรทัดมาตรฐานมีขนาดความยาว  12 นิ้ว หรือ 30 เซนติเมตร ใช้ในงานสร้างแบบใช้โค้งส่วนต่างๆ แทนไม้โค้งได้ ไม้บรรทัดขนาด 18 นิ้ว หรือ 45 เซนติเมตร และขนาด 24 นิ้ว หรือ 60 เซนติเมตร ใช้สำหรับต้องการขีดเส้นยาวๆที่ต่อเนื่องกัน
     การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บโดยวิธีแขวน ถ้าเป็นไม้บรรทัดพลาสติกควรระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีดเพราะจะทำให้ตัวเลขระยะวัดเลือนหายไม่สามารถอ่านระยะวัดได้



 1.3 ไม้ฉาก
การใช้งาน ใช้สำหรับสร้างแบบจะได้สัดส่วนเกณฑ์ตามมาตราส่วนมุมฉาก
        ลักษณะ  เป็นรูปสามเหลี่ยม  ด้านหนึ่งทำมุมฉาก 90 องศา ด้านตรงข้างทำมุมแหลมใช้ลากเส้นตั้งฉากในงาน  สร้างแบบเสื้อ ไม้ฉากมีขนาด 23 นิ้ว คูณ 11 นิ้ว มีเพียง 2 ด้าน ด้านหนึ่งสั้น และอีกด้านหนึ่งยาว เป็นรูปตัวแอล จะมีสัดส่วนมาตราเกณฑ์สัดส่วนและวิธีคำนวณอยู่บนไม้ฉาก
การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บโดยวิธีแขวน ถ้าเป็นไม้บรรทัดพลาสติก ควรระวังอาจจะหักได้และระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีดเพราะจะทำให้ตัวเลขระยะวัดเลือนหายไม่สามารถอ่านระยะวัดได้

 1.4  ไม้โค้ง
       1) ไม้โค้งส่วนสะโพก   
         การใช้งาน   ใช้โค้งแนวสะโพกและแนวตะเข็บข้าง
         ลักษณะ เหมือนไม้บรรทัดยาวขนาด 24 นิ้ว เป็น รูปโค้ง โค้งตรงช่วงด้านบนของไม้และมีความกว้างกว่าช่วงปลาย มีทั้งชนิดที่ทำด้วยไม้และพลาสติก ตรงปลายมีรูสำหรับแขวน
        การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บโดยวิธีแขวน ถ้าเป็นไม้บรรทัดพลาสติกควรระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีด
เพราะะทำให้ตัวเลขระยะวัดเลือนหายไม่สามารถอ่านระยะวัดได้



2)  ไม้โค้งเอนกประสงค์
      การใช้งาน ใช้โค้งส่วนวงคอเสื้อ  วงแขนเสื้อ แนวตะเข็บข้างของตัวเสื้อ กระโปรง กางเกงและแนวชายเสื้อ
      การเก็บรักษา  ควรเก็บรักษา  โดยการแขวนจะทำให้ไม่เป็นรอย ตัวอักษรไม่ลบเลือน


2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัด



     2.1 กรรไกรตัดผ้า
       การใช้งาน ใช้สำหรับตัดผ้า ไม่ตัดวัสดุอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผ้าและไม่ควรตัดผ้าซ้อนกันหลายชั้น ขณะใช้งานควรวางเบาๆ ระวัง ไม่ให้ตกจะทำให้ไม่คม
คุณภาพของกรรไกรทำด้วยเหล็กกล้า  มีความคมของกรรไกรจากโคนกรรไกรถึงปลายกรรไกร โดยทดลองตัดผ้าแล้วผ้าจะขาดตลอด ไม่มีเศษด้ายติดที่กรรไกรแสดงว่ากรรไกรนั้นคมจริง ขนาดของกรรไกรวัดความยาวเป็นนิ้วมีขนาดความยาว 8 นิ้ว ถึง 9 นิ้ว ด้ามโค้งตัดได้เที่ยงกว่า
          การเก็บดูแลรักษา  หลังจากใช้งานควรปัดฝุ่น ใช้ผ้าชุบน้ำมันเช็ดทำความสะอาดป้องกันสนิม เก็บในกล่องอุปกรณ์ตัดเย็บ



 2.2  กรรไกรตัดกระดาษ
        การใช้งาน  ใช้สำหรับตัดกระดาษ สร้างแบบ ราคาไม่แพงทำด้วยเหล็กหรืออะลูมิเนียม มีด้ามเป็นพลาสติกสีต่าง ๆเช่น   สีส้ม สีแดง สีเขียว เป็นต้น ขนาดที่เหมาะแก่การใช้งาน คือ ขนาดยาว 7-8 นิ้ว เมื่อใช้แยกเฉพาะงานออกไป ไม่ควรใช้ปนกันจะทำให้ความคมหมดไป ขณะใช้งานควรระมัดระวังไม่ให้กรรไกรตกเพราะจะทำให้ด้ามพลาสติกแตกหักได้ ไม่ควรนำกรรไกรไปตัดลวดเพราะทำให้คมกรรไกรเสีย เนื่องจากกรรไกรตัดกระดาษทำด้วยเหล็กเนื้ออ่อนหรืออลูมิเนียม
        การเก็บดูแลรักษา ไม่ควรตัดวัสดุ   อย่างอื่น และไม่ให้ตกพื้น ควรใช้ผ้าชุบน้ำมันเช็ดทำความสะอาดหลังจากใช้งาน เก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ



2.3  กรรไกรตัดเส้นด้าย
       การใช้งาน ใช้สำหรับตัดเศษด้าย
       ลักษณะ  เป็นเหล็กธรรมดาปลายกรรไกรแหลมคมด้ามกรรไกรจะจับเป็นแบบหนีบ เหมาะสำหรับใช้ตัดเส้นด้ายหลังจากเย็บตะเข็บต่าง ๆ เสร็จแล้ว
      การเก็บดูแลรักษา ใช้แล้วควรเช็ด     ทำความสะอาด  ไม่ควรให้สัมผัสของเปียกชื้นเพราะจะทำให้เป็นสนิมควรจัดเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ


 2.4  ที่เลาะผ้า
         การใช้งาน ใช้สำหรับเลาะแนวตะเข็บต่างๆ ที่ต้องการแก้ไขหรือเลาะด้ายเนา
         ลักษณะ ของที่เลาะผ้าหนึ่งอันจะมีส่วนที่     เป็นด้ามทำด้วยพลาสติกหรือไม้ อีกส่วนเป็น 
ที่เลาะผ้าทำด้วยโลหะแบน
         การเก็บดูแลรักษา ไม่ควรให้สัมผัสของเปียกชื้นเพราะจะทำให้เป็นสนิมควรจัดเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ


3. อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทำเครื่องหมาย






3.1  กระดาษสร้างแบบ
       การใช้งาน ใช้สำหรับสร้างแบบตัด
       ลักษณะ  เป็นแผ่นใหญ่เนื้อกระดาษมีความเหนียวใช้สำหรับงานการสร้างแบบก่อนที่จะนำไปวางแบบตัดเสื้อผ้าลงบนผ้า  อีกทีหนึ่ง
       การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้นวางกระดาษตามแนวนอนโดยทับซ้อนกันและอย่าให้กระดาษถูกแสง เพราะ จะทำให้กระดาษเหลืองกรอบ




     3.2  ดินสอ
              การใช้งาน ใช้สำหรับขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายบนแบบตัด ควรเหลาดินสอให้แหลมเพื่อความคมชัดของเส้น  ไม่ควรใช้ดินสอที่ไส้อ่อนจนเกินไป จะทำให้ทู่เร็ว  ดินสอที่ไส้แข็งเกินไปทำให้กระดาษสร้างแบบขาดได้ง่ายและมองไม่ชัดเจน       
              ลักษณะ ดินสอที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นดินสอดำ HB สำหรับงานการสร้างแบบตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และทำเครื่องหมายของตำแหน่งในการวางแบบ
              การเก็บดูแลรักษา ควรจัดเก็บใส่กล่องอุปกรณ์ให้สะดวกต่อการใช้งาน





 

3.3  ยางลบ
       การใช้งาน ใช้สำหรับลบเส้นดินสอที่ใช้ในการสร้างแบบตัด ยางลบที่นำมาใช้จะต้องเป็นยางลบที่ใช้ลบดินสอ ใช้กับงานการสร้างแบบตัด ยางลบ  ควรมีคุณภาพดี สามารถลบรอยดินสอได้สะอาด
      การเก็บดูแลรักษา ควรจัดเก็บใส่กล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ ให้สะดวกต่อการใช้งาน





3.4  ชอล์กขีดผ้า
        การใช้งาน  ใช้ทำเครื่องหมายบนผ้า
        ลักษณะ  จะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีหลากสีที่นำมาใช้ขีดเส้นลงบนผ้า ไว้ทำเครื่องหมายบนผ้า ขีดแล้วจะลบออกได้ ควรเลือกสีของชอล์กขีดผ้าให้เหมาะสมกับสีของผ้าจะทำให้ไม่เลอะเปื้อนง่ายในขณะที่ใช้ชอล์กควรมีความคม
        การเก็บดูแลรักษา ควรระวังไม่ให้ตกเพราะจะทำให้แตก หักได้ และจัดเก็บใส่กล่องอุปกรณ์
การตัดเย็บ

3.5  ลูกกลิ้ง
               การใช้งาน ใช้กดรอยเพื่อลอกเส้นในขั้นตอนสร้างแบบและกดรอยเส้นที่จะเย็บตะเข็บ
ลงบนผ้า
               ลักษณะ  รูปแบบส่วนรวมจะมีด้านเป็นไม้ หรือพลาสติก ส่วนที่เป็นตัวกดรอยจะเป็นโลหะ ใช้สำหรับในการกลิ้งกดรอย
               การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ ควรดูแลรักษาไม่ให้สัมผัสความชื้นเปียก เพราะจะทำให้ลูกกลิ้ง   เป็นสนิม






3.6 กระดาษกดรอย
      การใช้งาน ใช้ในการลอกลายจากแบบตัด โดยสอดไว้ระหว่างผ้าแล้วกดลูกกลิ้งทับกระดาษ สีที่ใช้ควรเลือกสีใกล้เคียงกับผ้าหรือสีอ่อนกว่า 
      การเก็บดูแลรักษา เพื่อให้กระดาษกดรอยใช้งานได้ยาวนาน ควรเก็บกระดาษ    กดรอยโดยใช้กระดาษไขปิดทับด้านสี และใช้กระดาษขาว A4 ปิดทับด้านที่เป็นสีขาว



4. อุปกรณ์ในการเย็บ




4.1  เข็มมือ
       การใช้งาน  ใช้สำหรับ  เนา สอย  เย็บติดเครื่องเกาะเกี่ยว  ถักรังดุม มีขนาดที่แตกต่างกันตาม     
       ลักษณะ ของงาน ที่นำมาใช้ตามเบอร์ดังนี้ คือ
1) ใช้สำหรับงานสอย และเนาเสื้อผ้า   ใช้เข็มมือขนาดเบอร์ 7 ถึง 9
2) ใช้สำหรับงานถักรังกระดุม ติดเม็ดกระดุม ใช้เข็มมือขนาดเบอร์ 5 ถึง 6
การเก็บดูแลรักษา หลังจากการใช้งานควรเช็ดด้วยน้ำมัน อย่าให้เปื้อนเหงื่อ       ห่อกระดาษใส่กล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ   



     4.2  เข็มจักร
การใช้งาน ใช้สำหรับเย็บผ้า โดยมีขนาดที่แตกต่างกันตามลักษณะของงาน ที่นำมาใช้ตามเบอร์ ที่สัมพันธ์กับผ้า จะแบ่งตามประเภทของจักร ดังนี้ คือ
1)  เข็มจักรแบบธรรมดา จะมีสัญลักษณ์ คือ  HA  ต่อด้วยขนาดเบอร์เข็มจักร ผ้าบาง ใช้ขนาดเข็มจักรเบอร์ 9 ถึง 13   ผ้าหนา ใช้ขนาดเข็มจักรเบอร์ 14 ถึง 18  ผ้ามีใยสังเคราะห์สูงจะเย็บยาก ใช้เข็มจักรที่มีโคนเข็มที่เป็น     สีทอง เรียกว่าเข็มทอง
2) เข็มจักรแบบอุตสาหกรรม จะมีสัญลักษณ์ คือ DB ต่อด้วยขนาดเบอร์เข็มจักรผ้าบาง ใช้ขนาดเข็มจักรเบอร์ 11 ถึง 14         ผ้าหนา ใช้ขนาดเข็มจักรเบอร์ 16 ถึง 18
3) เข็มจักรพันริม จะมีสัญลักษณ์ คือ DC ต่อด้วยขนาดเบอร์เข็มจักร  
การเก็บดูแลรักษา หลังจากการใช้เข็มจักรควรเช็ดด้วยน้ำมันอย่าให้เปื้อนเหงื่อห่อกระดาษใส่กล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ



       4.3  เข็มหมุดการใช้งาน
       ใช้สำหรับกลัดผ้าเพื่อเตรียม การเนาและกลัดแบบตัด ควรเลือกเข็มหมุดที่มีปลายแหลมคม  หัวเข็มหุ้มด้วยพลาสติกใสหรือหัวเข็มแบบ หัวมุก  ใช้ติดกับงานวางแบบตัดเย็บสามารถใช้แทนการเนาได้
การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บใส่กล่องเข็มหมุดหรือปักไว้บนหมอนเข็ม






4.4  หมอนเข็ม
       การใช้งาน ใช้ปักเข็มชนิดต่างๆ ช่วยให้หยิบใช้  ได้ง่าย ไส้หมอนเข็มใช้ผม ขนสัตว์ หรือกาก กาแฟ  ผสมเศษเทียนไข  เพื่อป้องกันเข็ม       เป็นสนิม
         การเก็บดูแลรักษา ระวังอย่าให้ถูกน้ำ เมื่อใช้เสร็จแล้วจึงควรเก็บใส่กล่องเครื่องมือ หรือตู้อุปกรณ์          ให้เรียบร้อย



4.5.  ที่สนเข็ม
        การใช้งาน ใช้สำหรับสนเข็ม
ลักษณะเป็นโลหะแผ่นบางๆ มีก้านลวดเส้นเล็กๆ งอเป็นวงรี ไว้สนเข็มเกาะเกี่ยวเส้นด้าย
        การเก็บดูแลรักษา เมื่อใช้เสร็จแล้วจึงควรเก็บใส่กล่องเครื่องมือ หรือตู้อุปกรณ์ให้เรียบร้อย





4.6  ด้ายเนา
       การใช้งาน ใช้สำหรับเนาเพื่อการลองตัวด้ายเนาจะมีความเปื่อย ซึ่งง่ายต่อการเลาะออกเมื่อเย็บตะเข็บ
       การเก็บดูแลรักษา ก่อนการเก็บหลอดด้ายควรนำปลายด้ายสอดไว้ในรอยบากหรือที่เก็บด้าย ถ้าหลอดด้ายแบบไม่มีรอยบาก ใช้เทปใสปิดปลายด้ายให้ติดกับหลอดด้าย ควรเก็บด้ายในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บหรือในลิ้นชักจักร  

4.7  ด้ายเย็บ
       การใช้งาน ใช้เย็บผ้า เย็บประกอบชิ้นส่วนของเสื้อผ้าให้ติดกัน  ควรเลือกสีด้ายให้เหมาะกับผ้า ด้ายใช้เย็บผ้าทั่วๆ ไป คือ เบอร์ 60
       การเก็บดูแลรักษา ก่อนการเก็บหลอดด้ายควรนำปลายด้ายสอดไว้ในรอยบากหรือที่เก็บด้ายถ้าหลอดด้ายแบบไม่มีรอยบากใช้เทปใสปิดปลายด้ายให้ติดกับหลอดด้าย ควรเก็บด้ายในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บหรือในลิ้นชักจักร


4.8  จักรเย็บผ้า
        จักรเย็บผ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุดและสำคัญที่สุด มีหลายชนิด ได้แก่ จักรเย็บผ้าธรรมดา จักรเย็บผ้าแบบกระเป๋าหิ้ว จักรอุตสาหกรรม เป็นต้นซึ่งมีโครงสร้างหลักคล้ายๆกัน ผู้เป็นช่างต้องศึกษาคู่มือแนะนำการใช้จักร ให้เข้าใจ รู้เทคนิคและมีทักษะในการใช้งาน การดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อให้จักรใช้งานได้สมบูรณ์และยาวนาน ส่งผลให้การเย็บ มีคุณภาพงานที่ดี




1) จักรเย็บผ้าแบบธรรมดา
การใช้งาน  ใช้เย็บเดินแนวตะเข็บที่เป็นเส้นตรงธรรมดา และยังนำมาใช้ในการ ปักจักรได้อีก โดยใช้วิธีการร่อนสะดึงในการปักจักร     
การดูแลรักษา ศึกษาจากคู่มือการใช้งาน หลังจากใช้งานควรปัดฝุ่นทำความสะอาดและหยอดน้ำมันสัปดาห์ละ  1 ครั้งเพื่อป้องกันสนิม



2) จักรเย็บผ้าแบบกระเป๋าหิ้ว
     การใช้งาน จักรเย็บผ้ากระเป๋าพัฒนามาจากจักรเย็บผ้าแบบธรรมดา แต่เพิ่มลวดลายขึ้นมาใช้ในการตกแต่งเสื้อผ้า เย็บตะเข็บกันลุ้ยริมผ้าได้  ทำแนวรังดุม และสามารถติดเม็ดดุมได้ ส่วนแนวตะเข็บเส้นตรงธรรมดายังมีอยู่ และมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นให้มีระบบการทำงานแบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เป็นช่างจะต้องศึกษาจากคู่มือการใช้จักรในแต่ละรุ่นที่ตนเองใช้
      การดูแลรักษา ศึกษาจากคู่มือการใช้งาน หลังจากใช้งานควรปัดฝุ่นทำความสะอาดและหยอดน้ำมันสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันสนิม 




3) จักรอุตสาหกรรมเข็มเดี่ยว
                 การใช้งาน ใช้เย็บเดินแนวตะเข็บที่เป็นเส้นตรงธรรมดา
       การดูแลรักษา ศึกษาจากคู่มือ การใช้งาน หลังจากใช้งานควรปัดฝุ่นทำความสะอาดและหยอดน้ำมันสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันสนิม


 
4.9   จักรพันริม
         การใช้งาน จักรพันริมหรือจักรโพ้ง มีหลายประเภท ได้แก่ 1) จักรพันริมธรรมดา 2) จักรพันริมอุตสาหกรรม  3) จักรพันริมกระเป๋าหิ้ว ใช้สำหรับพันริมตะเข็บในการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้ผ้าลุ้ยและทำให้ตะเข็บสวยงาม
         การดูแลรักษา การใช้งานให้ศึกษาจากคู่มือการใช้งาน หลังจากใช้งานควรปัดฝุ่นทำความสะอาดและหยอดน้ำมันสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันสนิม






1) จักรพันริมธรรมดา 
            ลักษณะเป็นจักรพันริมชนิด         3 เส้นด้าย จะต้องมีความรู้ ความชำนาญ ทักษะในการ   ใช้งาน การร้อยด้ายให้ถูกต้อง






 2) จักรพันริมอุตสาหกรรม
            จักรพันริมอุตสาหกรรมมี  3 ประเภท มีประโยชน์ในการงานแตกต่างกัน  คือ
                การใช้งาน แบ่งตามประเภทของจักร ดังนี้
                (1) จักรพันริม 3 เส้นด้าย ใช้พันริมตะเข็บเสื้อผ้างานเสื้อผ้าสตรีทั่วไป        
                (2) จักรพันริม 4 เส้นด้าย ใช้พันริมตะเข็บผ้ายืด      
                (3) จักรพันริม 5 เส้นด้าย ใช้พันริมเสื้อผ้าในงานอุตสาหกรรม





3) จักรพันริมกระเป๋าหิ้ว
           การใช้งาน ใช้พันริมตะเข็บเสื้อผ้างานเสื้อผ้าสตรีทั่วไป  จักรพันริมประเภทนี้มีหลายรุ่น หลายแบบ การใช้งานจะต้องศึกษาวิธีใช้งานจากคู่มือการใช้งาน

ข้อควรระวัง จักรพันริมจะมีใบมีด การใช้งานจะต้องระวัง อาจตัดผ้าทำให้เกิดความเสียหายได้



5. อุปกรณ์ที่ใช้ในการรีด
    เตารีดมี 2 ชนิด คือ เตารีดธรรมดาและเตารีดไอน้ำใช้รีดผ้าหลังจากเย็บตะเข็บเพื่อให้ตะเข็บเรียบทำให้งานตัดเย็บดูสวยงามประณีตมากขึ้นเพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่มีตะเข็บเรียบ ไม่ย่น เตารีดควรมีน้ำหนักเบาสะดวกที่จะยกด้วยมือตั้งความร้อนให้ สูง-ต่ำ ตามต้องการ


5.1 เตารีดธรรมดา
      การใช้งาน ใช้รีดผ้าให้เรียบก่อนเย็บ ในขณะเย็บ เพื่อให้ตะเข็บสวยงามไม่ย่นรั้ง  ทำให้งานดูสวยงามประณีต ก่อนรีดให้ปรับปุ่มที่หน้าปัดเลือกอุณหภูมิให้เหมาะกับผ้า แต่ละชนิด
      การเก็บดูแลรักษา หลังการใช้ควรงานเลื่อนปุ่มมาที่อุณหภูมิต่ำสุดดึงปลั๊ก 

 
    5.2 เตารีดไอน้ำ
การใช้งาน ใช้รีดผ้าให้เรียบ มีไอน้ำในตัวเตารีด วิธีการใช้ก่อนรีดให้ปรับปุ่มที่หน้าปัดเลือกอุณหภูมิให้เหมาะกับผ้าแต่ละชนิด เตารีดไอน้ำควรทำตามคำแนะนำที่บอกไว้อายุการใช้งานของเตารีดไอน้ำจะทนถ้าใช้น้ำสะอาดหลังการใช้งานควรเทน้ำในเตารีดออกให้หมด
การเก็บดูแลรักษา หลังการใช้ควรงานเลื่อนปุ่มมาที่อุณหภูมิต่ำสุดดึงปลั๊กออกเทน้ำในเตารีดออกให้หมด
การเก็บดูแลรักษา ควรสวมผ้ารองรีดกันเปื้อนซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ง่าย ไม่ควรวางเตารีดบนที่รองรีดโดยตรงหลังการใช้งานควรพับเก็บให้เรียบร้อย



5.3  ที่รองรีด
       การใช้งาน ใช้รองรีดในขณะรีด ไม่ควรวางเตารีดไว้บนผ้ารองรีดนานๆเพราะจะทำให้ผ้ารองรีดไหม้



5.4 ที่รองรีดแขนเสื้อ                     
        การใช้งาน ใช้สำหรับรองรีดแขนเสื้อสตรีแขนเสื้อสูท ตะเข็บวงแขนเสื้อและส่วนที่          แคบๆ ส่วนโค้ง ส่วนเว้า แขนเสื้อ จะทำให้รีดเข้าถึงตะเข็บตามรูปร่าง รีดเรียบง่ายขึ้น
     การเก็บดูแลรักษา ควรสวมผ้ารองรีดกันเปื้อนซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ง่าย ไม่ควรวางเตารีดบนที่รองรีดโดยตรงหลังการใช้งานควรพับเก็บให้เรียบร้อย    


5.5  กระบอกฉีดน้ำ
         การใช้งาน  ใช้ฉีดน้ำขณะรีดผ้าเพื่อให้ผ้ารีดเรียบง่ายขึ้น
         การเก็บดูแลรักษา ใช้แล้วควรหมุนปุ่มปิดไว้ป้องกันน้ำซึมออกมา ควรจัดเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย



7 ความคิดเห็น:

  1. อธิบายละเอียด เข้าใจง่าย ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความรู้

    ตอบลบ
  2. อยากทราบราคาแต่ล่ะเครื่องว่าเท่าไรคะ

    ตอบลบ
  3. ข้อมูลละเอียดมากคะ ขออนุญาตนำข้อมูลไปสอนนักเรียนนะคะ

    ตอบลบ
  4. ขออนุญาตนำข้อมูล และภาพ ไปเผยแพร่ใช้ประกอบการสอนฝึกอาชีพค่ะ

    ตอบลบ
  5. ขออนุญาตินำรูปกับเนื้อหาไปใช้ในการเรียนวิชา ความเป็นครูนะคะ

    ตอบลบ